เมืองจีน กับ การเปลี่ยนแปลง ที่หลายๆ คนอยากรู้!
เมื่อเดือนมีนาคม 2562 ที่ผ่านมา เปิ้ลได้มีโอกาสไปเที่ยวเมืองจีนอีกครั้ง ที่เมืองกวางโจว โดยก่อนไป แล้วก็มีแต่คนบอกว่า ตอนนี้เมืองจีน เทคโนโลยีก้าวหน้าไปมาก จนเราไม่รู้จักแล้ว จึงขอไปให้เห็นกับตาหน่อยว่า แค่เพียงปีกว่า นี่.. เมืองจีนจะเปลี่ยนไปเยอะขนาดนั้นเลยหรอ? โดยเรื่องเล่าที่ได้ยินมา มีดังนี้
- ที่ เมืองจีน ทุกคนใช้ cashless society ไปหมดแล้ว
- จีน ใช้แต่ e-commerce จน offline ขายไม่ได้แล้ว
- Sharing society มีอยู่ในทุกสิ่ง ทุกอย่างที่จีน
- ที่เมืองจีน ทุกคนใช้ cashless society ไปหมดแล้ว
อันนี้ บอกเลยว่า คนทั่วไป และร้านค้าทั่วไป ก็ยังคงรับเงินสดตามปกตินะ เพราะมีบางคน จะไปเมืองจีน กังวลใจถึงขั้นว่า ถ้าเราไม่มี alipay หรือ wechatpay เราจะไปซื้อของกันได้อย่างไร? จริงๆ แล้ว ไม่ต้องกังวลใจขนาดนั้นค่ะ เพราะส่วนใหญ่ยังรับเงินสดปกติ
เพียงแต่พ่อค้า แม่ค้า ที่เมืองจีน ทุกคน (เน้นว่า ทุกคน) สามารถรับเงินผ่าน alipay หรือ wechatpay ได้หมดแล้ว ไม่ว่าจะเป็นร้านเล็ก ร้านใหญ่ หรือกระทั่งแม่ค้าขายผลไม้ข้างถนน ที่ยังใช้ตาชั่งแบบใส่เหล็กห้อยๆ ก็ยังสามารถรับเงินผ่าน qr code ได้เลย
ดังนั้น ใครจะเดินทางไปเมืองจีน ก็ไม่ต้องกังวลไปว่า ไม่มีบัญชี alipay หรือ wechatpay แล้วจะไปเที่ยวไม่ได้ ยังสามารถท่องเที่ยว ซื้อของได้ตามปกตินะจ๊ะ อีกทั้งการเปิดบัญชี alipay หรือ wechatpay นั้น ยังไม่สามารถเปิดได้ในประเทศไทย เพราะต้องไปทำเรื่องแสดงตัวตนที่เมืองจีนเท่านั้น
- จีน ซื้อขายผ่าน e-commerce จน offline ขายไม่ได้แล้ว
โอ้.. อันนี้ ยอมรับมากๆ เลย ว่า ร้านค้าต่างๆ คนเริ่มเดินบางตาลง บางร้านที่เมื่อก่อนเปิ้ลไปแล้วเห็นขายดีมากๆ กลายเป็นตอนนี้ ร้านเหล่านั้น ใช้เป็นร้านในการ แพคของ ส่งของแทน เลยก็มี แต่เท่าที่เดินสำรวจตลาดหลายๆ แห่งในกวางเจานี้ พบว่า พ่อค้า แม่ค้าออนไลน์จีนนั้น ขาย online คู่กับ offline คือ การลงขายสินค้าผ่านทาง online ไม่ว่าจะ taobao, jd, pinduoduo, alibaba, 1688, etc. แล้ว เจ้าตัวก็เปิดหน้าร้านขายของตามปกติ โดยทุกคน เปิดเครื่องคอมฯ แล้วดู stats และการสั่งซื้อผ่านทาง online มา (อันนี้เราแอบดูหน้าจอในร้านค้าต่างๆ นะ 55) ซึ่งในหน้าจอ แสดงผลเป็น กราฟให้อ่านง่ายๆ อีกด้วย
ดังนั้น จึงสรุปได้ว่า ใครมีร้านค้าอยู่แล้ว ส่วนใหญ่ยังเปิดขายอยู่ แต่คนมาเดินน้อยลงมากๆ และยอดสั่งซื้อส่วนใหญ่เกิดที่ online ในร้านค้า เป็นที่ให้ลอง และมาดูสินค้า ซะมากกว่า ใช้ช่องทาง online เป็นตัวสร้างลูกค้าให้เพิ่มขึ้น เมื่อมีช่องทางหาลูกค้าเพิ่มมากขึ้น รายได้ก็เพิ่มขึ้นด้วยเช่นกัน
แต่ตอนนี้ online แข่งขันกันดุเดือดมากกกกก ทำให้หลายๆ คน เริ่มหันกลับมาขายผ่านหน้าร้าน หรือ offline เหมือนเดิมแล้ว เพราะช่องทาง การตลาดออนไลน์จีน นั้น เติบโตถึงขั้นสุด และจำเป็นต้องเดินเกมมาแข่งกันนอก ออนไลน์กันบ้างแล้ว
ส่วนใหญ่แล้ว ทุกคนในเมืองจีน มี WeChat ในเครื่องมือถือ และ Wechat ก็เป็น superApp ที่สามารถทำได้ทุกอย่างใน App เดียว ตั้งแต่ จ่ายค่าน้ำ ค่าไฟ, จองโรงแรม, ตั๋วหนัง แต่ที่น่าสนใจคือ ใน app wechat นี้ มีฝัง ตัว JD.com ซึ่งเป็น แหล่งขายสินค้าบนออนไลน์ของจีนอยู่ใน app ด้วย (เพราะ jd.com เป็นเจ้าของเดียวกับ wechat นั้นเอง ซึ่งก็คือ Tencent) โดยการที่คนจีนนิยมซื้อสินค้าผ่านทาง jd.com เป็นจำนวนมาก สาเหตุส่วนหนึ่งก็มาจากที่ jd ถูกฝังอยู่ใน wechat นี่เอง)
และจากการสอบถาม ผู้ใช้ทั่วไป ตอนนี้ กลับพบว่า คนจีน ส่วนใหญ่ หันมานิยม app pinduoduo เป็นจำนวนมาก แม้กระทั่ง คนสูงอายุที่จีน ก็สามารถสั่งซื้อได้ผ่าน pinduoduo เลย ที่สำคัญคือ มันซื้อง่าย และราคาถูกกว่า ที่ขายตามร้านทั่วไปมากๆ จึงทำให้ pinduoduo กลายเป็น app ยอดนิยม ที่มาแรงในปีที่แล้วกันเลยทีเดียว แต่ถ้าถามว่า pinduoduo เป็นแหล่งขายของ แต่ที่นิยมมากในการใช้ Review คือ Red หรือ xiaohongshu ใน Red นี้ มีผลกับการตัดสินใจในการซื้อสินค้ามากๆ ในทุกช่องทางเลย
- Sharing society มีอยู่ในทุกสิ่ง ทุกอย่างที่จีน
สังคมแห่งการแชร์ เราได้ยินเรื่องนี้ กันมาเยอะมาก ว่า จีนใช้ระบบการแชร์สินค้า ตั้งแต่การเช่าใช้จักรยานร่วมกัน หรือ การเช่าร่มในราคาแค่ 5 หยวน แต่ที่เห็นฮิตมากๆ ในเขตเมืองเลย คือ การเช่าใช้ powerbank โดยจะมีเป็นตู้ขาวๆ วางอยู่ตามร้านค้าทั่วๆ ไป ถ้าสังเกตดีๆ ก็จะเห็นเลย สะดวกดีมาก
และจากการไปเดินสำรวจหลายๆ ที่ในเมืองกวางเจา เปิ้ลพบว่า จักรยานแบบให้เช่านี้ มีทั่วเมืองจริงๆ เยอะมาก แต่คันที่ใช้ไม่ได้ก็เยอะมากด้วยเช่นกัน เพราะการมีจักรยานที่เยอะมาก ทำให้การดูแลไม่ทั่วถึง บางที่ มีการนำจักรยานที่ใช้เช่ามาวางกองรวมกันจนเหมือนเป็นขยะเลยด้วยซ้ำ
และจากการสอบถามคนจีนที่โน่น ว่า เช่าใช้จักรยานแบบแชร์นี้ไหม? บางคนก็ตอบ “ไม่ค่อยได้ใช้” เพราะเขาชอบที่จะใช้จักรยานไฟฟ้ามากกว่า ซึ่งจักรยานไฟฟ้าที่จีนนี้ ก็ราคาไม่แพงมากแถมสามารถดัดแปลงให้เด็กนั่งไปด้วยกันได้อีกด้วย อีกทั้งคนจำนวนนึงก็นั่งรถไฟฟ้าแทนการขี่จักรยาน พอลงรถไฟฟ้าก็เดินกลับบ้านแทน (คนจีนเดินเก่งมากอยู่แล้ว)
แต่ไม่ใช่ว่า คนจะไม่ใช้ระบบจักรยานนี้นะคะ คนใช้ก็มีมากค่ะ สะดวกดี เพราะมีเยอะ ไปที่ไหนก็มีใช้เช่าได้ โดยเฉพาะพวกใต้ตึก แฟลต ที่พักอาศัยต่างๆ ซึ่งเราสามารถเลือกเอาคันที่คุณภาพดีๆ ไปใช้ได้เลย
นอกจากการเช่าใช้จักรยานแล้ว ขนส่งมวลชนอีกอัน ที่เคยได้ยินมาคือ การเรียก taxi โดยใช้ app didi ซึ่งเป็น app ที่ทำให้ uber ต้องยกธงให้ didi เป็นเจ้าตลาดในจีนแทน พอไปถึง เราก็พบว่า taxi ในเมืองก็ยังเยอะอยู่มาก อีกทั้งยังมี สามล้อท้องถิ่น (มอไซต์ดัดแปลงให้เป็นที่นั่งได้) ก็มีเพียบไปหมด เลยไม่จำเป็นต้องใช้บริการ didi เลย อาจเป็นเพราะเราไปอยู่ในเขตเมืองมากๆ เลยมี taxi อยู่เยอะก็ได้นะคะ แต่พอถามคนจีนที่โน่น เขาก็บอกว่า เด๊ยวนี้ไม่ค่อยเรียก didi กันแล้ว เพราะเก็บราคาแพงขึ้น เมื่อก่อนที่คนใช้เยอะจนดังข้ามโลก ก็เพราะว่า มันมีโปรฯ ในการใช้เรียก ทำให้ราคาค่า taxi ที่เรียกผ่าน didi นั้น มีราคาถูก แต่ตอนนี้ ราคาปกติ และบางทีแพงกว่าด้วยซ้ำ (ฉะรอย จะเหมือน app grab taxi ในบ้านเรา ที่ฮิตมากๆ ช่วงมีโปรฯ ลดราคา 55) ดังนั้นไปเมืองจีน ก็เรียก taxi ปกติได้นะไม่ต้องผ่าน app ก็ได้ แต่ taxi ที่เมืองจีน ก็มีนิสัยเหมือน taxi ไทย คือ เห็นต่างชาติ ขอเรียกเหมาเป็นประจำ แต่ก็ไม่ใช่ทั้งหมดน้า.. ดีๆ ก็มีเหมือนกันจ้า
สรุป การไปเยือนเมืองจีน ที่กวางเจาในครั้งนี้ ไปเพื่อให้ไปได้คำตอบจากคำถามที่ค้างคาใจ ถึงการเปลี่ยนแปลง ที่หลายๆ คนบอก แต่หลายๆ คนที่ไปด้วย มักถามเปิ้ลว่า เปิ้ลตั้งใจไปกินของอร่อยที่กวางเจาใช่ไหม? 55+
ตอบเลย.. อันนี้เรืองจริงมาก เพราะตั้งใจไปกิน ร้าน Haidilao ชาบู ที่อยากกิน ซึ่งมีชื่อเสียงมากในเมืองจีน และถ้าใครก็อยากรู้ว่า ทำไมต้องไปกินร้าน haidilao ตามไปอ่านได้ที่บทความเรื่อง “ถอดรหัสธุรกิจร้านอาหาร Haidilao” นะคะ